วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบซิปปา (CIPPA Model)



เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ผ่านกิจกรรมหลากหลายที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้  และช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สาระควบคู่ไปกับการเรียนรู้กระบวนการ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนฝึกฝนการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะกระบวนการนั้น ๆจนเกิดเป็นความสามารถในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้    มี  7  ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ 1  การทบทวนความรู้เดิม  ผู้สอนสำรวจความรู้เดิมและความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ใหม่  โดยใช้หลักการสร้างความรู้ (Construction)  เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่  หากผู้เรียนขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการเรียนรู้สิ่งใหม่  จำเป็นต้องช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานดังกล่าวก่อนสอนสิ่งใหม่  นอกจากนี้จะช่วยให้ผู้สอนรู้ปัญหาของผู้เรียนจะได้ไม่สอนซ้ำกับสิ่งที่ผู้เรียนรู้แล้ว  และสอนได้สอดคล้องกับปัญหาความต้องการของผู้เรียน
                ขั้นที่ 2  การแสวงหาความรู้ใหม่  ผู้เรียนแสวงหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหรือแหล่งความรู้ต่าง ๆโดยใช้หลักการเรียนรู้ทักษะกระบวนการ(Process  Learning)  เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  อันเป็นทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
                ขั้นที่ 3  การศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล ความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม โดยใช้หลักการสร้างความรู้ (Construction)  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเองอันเป็นทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต 
                ขั้นที่ 4  การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม  ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด อาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตน  รวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจของตนให้กว้างขึ้น  โดยใช้หลักการปฏิสัมพันธ์(Interactive)
                ขั้นที่ 5  การสรุปและจัดระเบียบความรู้  ผู้เรียนสรุปและจัดระเบียบความรู้ที่ได้รับทั้งหมดทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่และจัดสิ่งที่เรียนให้เป็นระบบระเบียบเพื่อช่วยให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้ง่าย  โดยใช้หลักการสร้างความรู้ (Construction)  และหลักการเรียนรู้ทักษะกระบวนการ(Process  Learning)
                ขั้นที่ 6  การปฏิบัติและ/หรือการแสดงความรู้และผลงาน  ผู้เรียนแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนให้ผู้อื่นรับรู้เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ตรวจสอบความเข้าใจของตนและช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้คิดสร้างสรรค์  ขั้นนี้จะเป็นขั้นปฏิบัติ  และมีการแสดงผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วย
                ขั้นที่ 7 การประยุกต์ใช้ความรู้   ผู้เรียนนำความรู้ความเข้าใจของตนไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย  เพื่อเพิ่มความชำนาญ  ความเข้าใจ ความสามารถในการแก้ปัญหาและความจำเป็นในเรื่องนั้น ๆ  โดยใช้หลักการประยุกต์ใช้ความรู้(Application)  ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งจากการปฏิบัติจริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น