วันพุธที่ 9 มกราคม พ.ศ. 2556

รูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Paticipatory Learning)



เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ยึดหลักการมีส่วนร่วมของผู้เรียน  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สูงสุด  เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดการกระตือรือร้น  และตื่นตัวในการเรียนรู้รวมถึงการรับผิดชอบต่อการเรียนรู้ของตนเอง  สามารถดำเนินการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ผู้เรียนสามารถมีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกขั้นตอน  ตั้งแต่ขั้นวางแผนการเรียนรู้  ขั้นทำกิจกรรมการเรียนรู้  และขั้นประเมินผลการเรียนรู้
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้มี  4  ขั้นตอน  คือ
1.             ประสบการณ์(experiment  / application)   ผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนนำประสบการณ์เดิมของตนมาพัฒนาเป็นความรู้
2.             การสะท้อนความคิดและถกเถียง (refection  and discussion) ผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสแสดงออก  เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการเรียนรู้จากกันและกัน
3.             การสร้างความเข้าใจและความคิดรวบยอด (understanding  and  conceptualization)ผู้เรียนเกิดความเข้าใจและนำไปสู่การเกิดความคิดรวบยอด  โดยผู้เรียนเป็นฝ่ายริเริ่มแล้วผู้สอนเติมให้สมบูรณ์ หรือทางกลับกันผู้สอนเป็นผู้ริเริ่มแล้วผู้เรียนเติมให้สมบูรณ์เป็นความคิดรวบยอด
4.             การทดลองหรือประยุกต์แนวคิด (experiment/application)  ผู้เรียนนำการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นใหม่ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ จนเกิดเป็นแนวปฏิบัติของผู้เรียนเอง
การดำเนินการจะเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งก่อนก็ได้แต่ต้องดำเนินการให้ครบทุกองค์ประกอบ

รูปแบบการจัดการเรียนรู้ตามวัฏจักรการเรียนรู้ 4 MAT



เป็นการจัดการเรียนรู้  โดยใช้คำถามหลัก  4  คำถาม คือ ทำไม (Why)  อะไร(What)  อย่างไร(How) และถ้า (If)  ซึ่งการใช้คำถามนี้จะช่วยพัฒนาผู้เรียนให้ใช้สมองทุกส่วนในการพัฒนาศักยภาพของตนอย่างเต็มที่
        ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  มีการดำเนินการ  8  ขั้นตอน  ดังนี้
ขั้นที่ 1  การสร้างประสบการณ์  เริ่มจากผู้สอนจัดประสบการณ์ให้ผู้เรียนได้เห็นคุณค่าของเรื่องที่เรียนด้วยตนเอง  ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมจึงต้องเรียนเรื่องนี้   
          ขั้นที่ 2  การวิเคราะห์ประสบการณ์  หรือสะท้อนความคิดจากประสบการณ์  ช่วยให้ผู้เรียนเกิดความตระหนักรู้  และยอมรับความสำคัญของเรื่องที่เรียน
                ขั้นที่ 3  การพัฒนาประสบการณ์เป็นความคิดรวบยอดหรือแนวคิด  เมื่อผู้เรียนเห็นคุณค่าของเรื่องที่เรียนแล้ว  ผู้สอนจึงจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ที่ช่วยให้ผู้เรียนสามารถสร้างความคิดรวบยอดได้ด้วยตนเอง
                ขั้นที่ 4  การพัฒนาความรู้/ความคิด  เมื่อผู้เรียนมีประสบการณ์และเกิดความคิดรวบยอดหรือแนวคิดพอสมควรแล้ว  ผู้สอนจึงกระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาความรู้ความคิดของตนเองให้กว้างขวางและลึกซึ้งยิ่งขึ้นโดยการให้ผู้เรียนได้ค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย(การเรียนรู้ในขั้นที่ 3 และ 4  คือการตอบคำถามว่า สิ่งที่ได้เรียนรู้คืออะไร)
                ขั้นที่ 5  การปฏิบัติตามแนวคิดที่ได้เรียน  ในขั้นนี้ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนนำความรู้ความคิดที่ได้จากการเรียนรู้ไปทดลองใช้ปฏิบัติในสถานการณ์จริง
                ขั้นที่ 6   ชิ้นงานด้วยตนเองจากการปฏิบัติตามแนวคิดที่ได้ในขั้นที่ 5   ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนพัฒนาความสามารถของตน  โดยนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการสร้างชิ้นงานที่เป็นความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง(คำถามหลักที่ใช้ในขั้นที่ 5-6 คือจะทำอย่างไร)
                ขั้นที่ 7  การวิเคราะห์ผลงานและแนวทางในการนำไปประยุกต์ใช้  เป็นขั้นตอนที่ผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงผลงานของตน  ชื่นชมกับความสำเร็จ  และเรียนรู้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์  รวมทั้งรับฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์เพื่อการปรับปรุงงานของตนให้ดียิ่งขึ้น และนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป
                ขั้นที่ 8  การแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด  เป็นขั้นการแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดต่อกันโดยร่วมกันอภิปรายเพื่อนำการเรียนรู้ไปใช้เชื่อมโยงกับชีวิตจริง (คำถามหลักในการอภิปรายก็คือ  ถ้า...)

รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบซิปปา (CIPPA Model)



เป็นการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิสัมพันธ์กับบุคคลและสิ่งแวดล้อมรอบตัว  ผ่านกิจกรรมหลากหลายที่เอื้อให้ผู้เรียนเกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้  และช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สาระควบคู่ไปกับการเรียนรู้กระบวนการ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้เรียนฝึกฝนการประยุกต์ใช้ความรู้และทักษะกระบวนการนั้น ๆจนเกิดเป็นความสามารถในการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน
ขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้    มี  7  ขั้นตอน คือ
ขั้นที่ 1  การทบทวนความรู้เดิม  ผู้สอนสำรวจความรู้เดิมและความรู้พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ใหม่  โดยใช้หลักการสร้างความรู้ (Construction)  เพื่อตรวจสอบความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่  หากผู้เรียนขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นในการเรียนรู้สิ่งใหม่  จำเป็นต้องช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้พื้นฐานดังกล่าวก่อนสอนสิ่งใหม่  นอกจากนี้จะช่วยให้ผู้สอนรู้ปัญหาของผู้เรียนจะได้ไม่สอนซ้ำกับสิ่งที่ผู้เรียนรู้แล้ว  และสอนได้สอดคล้องกับปัญหาความต้องการของผู้เรียน
                ขั้นที่ 2  การแสวงหาความรู้ใหม่  ผู้เรียนแสวงหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลหรือแหล่งความรู้ต่าง ๆโดยใช้หลักการเรียนรู้ทักษะกระบวนการ(Process  Learning)  เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  อันเป็นทักษะที่จำเป็นในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
                ขั้นที่ 3  การศึกษาทำความเข้าใจข้อมูล ความรู้ใหม่ และเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม โดยใช้หลักการสร้างความรู้ (Construction)  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการสร้างความรู้ด้วยตนเองอันเป็นทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต 
                ขั้นที่ 4  การแลกเปลี่ยนความรู้ความเข้าใจกับกลุ่ม  ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความรู้ความคิด อาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตน  รวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจของตนให้กว้างขึ้น  โดยใช้หลักการปฏิสัมพันธ์(Interactive)
                ขั้นที่ 5  การสรุปและจัดระเบียบความรู้  ผู้เรียนสรุปและจัดระเบียบความรู้ที่ได้รับทั้งหมดทั้งความรู้เดิมและความรู้ใหม่และจัดสิ่งที่เรียนให้เป็นระบบระเบียบเพื่อช่วยให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ได้ง่าย  โดยใช้หลักการสร้างความรู้ (Construction)  และหลักการเรียนรู้ทักษะกระบวนการ(Process  Learning)
                ขั้นที่ 6  การปฏิบัติและ/หรือการแสดงความรู้และผลงาน  ผู้เรียนแสดงผลงานการสร้างความรู้ของตนให้ผู้อื่นรับรู้เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ตรวจสอบความเข้าใจของตนและช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้คิดสร้างสรรค์  ขั้นนี้จะเป็นขั้นปฏิบัติ  และมีการแสดงผลงานที่ได้ปฏิบัติด้วย
                ขั้นที่ 7 การประยุกต์ใช้ความรู้   ผู้เรียนนำความรู้ความเข้าใจของตนไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่หลากหลาย  เพื่อเพิ่มความชำนาญ  ความเข้าใจ ความสามารถในการแก้ปัญหาและความจำเป็นในเรื่องนั้น ๆ  โดยใช้หลักการประยุกต์ใช้ความรู้(Application)  ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่ลึกซึ้งจากการปฏิบัติจริง

รูปแบบการสอน (Teaching model)



                      รูปแบบการสอน  หมายถึง   โครงสร้างที่เป็นกรอบกระบวนการสอน(Teaching  process  frame)   แบบแผนการสอน  (Teaching  pattern)  เพื่อแสดงขั้นตอนรูปแบบการเรียนการสอนเอาไว้อย่างมีระเบียบและเป็นระบบ   ทุกขั้นตอนจะมีการประสานสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่อง  ครบวงจร โดยแต่ละขั้นจะชี้นำหรือบ่งบอกพฤติกรรมการเรียนการสอน  ที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างสมบูรณ์ (วรรณี    โสมประยูร, 2541: 11)

                     รูปแบบการสอนที่ดี จะต้องมีรูปแบบและกรอบโครงสร้างที่แน่นอนชัดเจนในการจัดขั้นตอนและกิจกรรมการเรียนการสอนไว้อย่างสมบูรณ์และครบวงจร  พร้อมทั้งมีหลักฐานการวิจัยเพื่อตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพเป็นการสนับสนุนด้วย   รูปแบบการสอนที่ดีควรมีลักษณะยืดหยุ่นหรือปรับตัวเองได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ  ซึ่งรูปแบบการสอนไม่จำเป็นต้องยึดติดกับหลักสูตรหรือโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมแต่อย่างใด    การสอนในแต่ละกลุ่มสาระและเนื้อหาแต่ละหน่วยการเรียนรู้   ครูจำเป็นต้องเลือกใช้รูปแบบการสอนที่เหมาะสม  เพื่อใช้เป็นกรอบและแนวทางในการดำเนินกระบวนการสอนให้มีทิศทางและเกิดประสิทธิภาพ   ซึ่งจะช่วยให้ครูและนักเรียนได้สอนและเรียนรู้ได้อย่างสมบูรณ์  ด้วยเหตุนี้รูปแบบการสอนที่ครูใช้จึงต้องปรากฏอยู่ในแผนการจัดการเรียนรู้ของครูเสมอ   


ลักษณะทั่วไปของรูปแบบการสอน



ส่วนสำคัญของรูปแบบการสอนมี   4   องค์ประกอบ  ได้แก่

1.    ขั้นตอนการสอน   เป็นส่วนสำคัญที่แสดงกรอบโครงสร้างที่ระบุขั้นตอนการสอนเอาไว้อย่างมีระเบียบและเป็นระบบ   ทุกขั้นตอนจะประสานสัมพันธ์กันอย่างต่อเนื่องและเป็นไปโดยครบวงจร  ตั้งแต่เริ่มต้นการสอนจนถึงการประเมินผล
2.    บทบาทของครูและนักเรียน    เป็นวิธีการที่แสดงถึงพฤติกรรมการสอนและพฤติกรรมการเรียนที่ชี้นำเอาไว้อย่างชัดเจนว่าขั้นตอนไหนใครควรแสดงบทบาทอย่างไร  โดยเน้นกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการกระทำของผู้เรียนเป็นสำคัญ
3.    หลักปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน   เป็นการติดต่อสื่อสารอย่างใกล้ชิดแบบกระบวนการคู่  (two – way  process)  ระหว่างครูและนักเรียน  โดยเน้นการมีส่วนร่วมของนักเรียนทุก ๆคน  ภายใต้บรรยากาศและความสัมพันธ์อันดี ตามวิถีทางแบบประชาธิปไตย
4.    สิ่งสนับสนุนการเรียนการสอน   ได้แก่สื่อการเรียนการสอนและสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆที่นำมาใช้เป็นเครื่องมือ   ที่จะช่วยเอื้อให้การสอนและการเรียนทุกขั้นตอนดำเนินไปอย่างถูกต้องเหมาะสม  เพื่อส่งเสริมให้การสอนมีประสิทธิภาพสูงและการเรียนมีประสิทธิผลเต็มตามศักยภาพที่ควรเป็น  
รูปแบบการสอนคุณภาพนั้นมีเกณฑ์ในการพิจารณาเลือกใช้ที่ควรพิจารณา คุณสมบัติ  3  ข้อ  ดังนี้
1.             ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน  จะต้องสูงกว่ารูปแบบการสอนที่ใช้อยู่เดิม
2.             ขั้นตอนการสอน  จะต้องเข้าใจง่าย  ไม่ยุ่งยากสับสน  หรือซับซ้อน
3.             สื่อการสอนที่ใช้   จะต้องทำขึ้นเองได้ง่าย  หรือหาได้สะดวกในท้องถิ่น
รูปแบบการสอนสากลซึ่งเป็นที่รู้จักกันมานานและครูนิยมใช้  เป็นรูปแบบการสอนที่มีลักษณะ  3   ขั้นตอน  ได้แก่  ขั้นนำ  ขั้นสอน  และขั้นสรุป   ซึ่งในแต่ละขั้นครูจะมีวิธีสอน  กิจกรรม  สื่อต่างๆ ที่เห็นสมควร  แต่ครูบางท่านมีศักยภาพสูง  จะมีการสร้างสรรค์หรือออกแบบกิจกรรมโดยศึกษารูปแบบการสอนที่มีแนวคิดหลักการ  ทฤษฎีรองรับ  แล้วปรับกระบวนการเรียนการสอนปรับขั้นตอนเชื่อมโยงกิจกรรมให้เหมาะสมกับผู้เรียน  นำไปทดลองใช้สอนแล้ววิเคราะห์ผลเพื่อนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาผู้เรียนต่อไป บรรดาครูดังกล่าวน่าจะกล่าวยกย่องได้ว่าเป็นครูมืออาชีพอย่างแท้จริง  ซึ่งในอนาคตคงจะได้รับเกียรติเป็นครูชำนาญการพิเศษหรือครูผู้เชี่ยวชาญได้ไม่ยากนัก